วันอังคารที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2562

การออกแบบหน่วยการเรียนรู้อิงมาตรฐาน (BACKWARD DESIGN)

การออกแบบหน่วยการเรียนรู้อิงมาตรฐาน (BACKWARD DESIGN)

เมื่อครูผู้สอนได้ศึกษาและมีความเข้าใจในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 เป็นเบื้องต้นแล้วว่า เป้าหมายของชาตินั้นต้องการพัฒนาผู้เรียนอย่างไร และท่านเป็นครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้อะไร  ต้องทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในธรรมชาติของวิชานั้นๆ โดยทำการศึกษาลักษณะของมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัด แล้วนำมาวิเคราะห์มาตรฐานและตัวชี้วัดของกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่ตนเองรับผิดชอบอย่างถูกต้อง  โดยทำความเข้าใจว่า      มาตรฐานและตัวชี้วัดต้องการให้นักเรียนรู้อะไร   ทำอะไรได้  จึงจะทำให้ท่านสามารถจัดการเรียนการสอนเพื่อพานักเรียนให้ไปถึงเป้าหมายได้
ดังนั้น หน่วยการเรียนรู้ จึงเป็นหัวใจของหลักสูตรอิงมาตรฐาน  เพราะเป็นขั้นตอนที่ครูนำมาตรฐานสู่การเรียนการสอนในห้องเรียน นักเรียนจะบรรลุ(ไปถึง) มาตรฐานที่กำหนดหรือไม่ก็อยู่ที่ขั้นตอนนี้ ฉะนั้น หน่วยการเรียนรู้ จึงหมายถึง กลุ่มของสาระการเรียนรู้หรือองค์ความรู้ที่มีลักษณะเดียวกันหรือสัมพันธ์กันนำมารวมกันเป็นหมวดหมู่ เพื่อสะดวกต่อการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน โดยครูผู้สอนจะต้องพิจารณาเลือกตัวชี้วัดที่มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันทั้งมาตรฐานและตัวชี้วัด สาระ/เนื้อหา และกระบวนการเรียนการสอน ซึ่งไม่ควรใหญ่หรือเล็กเกินไป เพราะถ้าจัดกลุ่มสาระการเรียนรู้หรือองค์ความรู้จำนวนมากจะเป็นหน่วยที่ใหญ่ซึ่งทำให้ยุ่งยากต่อการจัดกิจกรรมและการประเมินผล  แต่ถ้าเล็กเกินไปก็อาจทำให้นักเรียนไม่สามารถสร้างความคิดรวบยอดในการเรียนได้  และการตั้งชื่อหน่วยการเรียนรู้ควรให้น่าสนใจ  สื่อถึงเนื้อหา/เรื่องราวที่จะเรียนในหน่วยนั้น ๆ
            ส่วนสมรรถนะสำคัญทั้ง  ประการ คือ 1) ความสามารถในการสื่อสาร 2) ความสามารถในการคิด 3) ความสามารถในการแก้ปัญหา  4) ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต และ5) ความสามารถในการใช้เทคโนโลยี และคุณลักษณะอันพึงประสงค์อีก  ประการ คือ 1) รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ 2) ซื่อสัตย์สุจริต 3) มีวินัย 4) ใฝ่เรียนรู้ 5) อยู่อย่างพอเพียง 6)มุ่งมั่นในการทำงาน 7)รักความเป็นไทย และ 8) มีจิตสาธารณะ   นั้น จะเป็นตะกอนที่เกิดจากการเรียนรู้มาตรฐาน/ตัวชี้วัดทั้ง กลุ่มสาระ ซึ่งทั้งสมรรถนะและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ครูจะต้องตระหนักในการพัฒนาผู้เรียนเช่นกัน
สำหรับการออกแบบหน่วยการเรียนรู้อิงมาตรฐาน ควรมีสิ่งที่ครูจะต้องคำนึงและถามตัวเองให้ได้ เสมอ คือ
1.     ทำการวางเป้าหมาย  ในการเรียนรู้ของหน่วยเชื่อมโยงกับมาตรฐาน/ตัวชี้วัดหรือไม่
2.     ได้กำหนดชิ้นงาน/ภารงาน รวมทั้ง การประเมินชิ้นงาน/ภารงาน  ที่สะท้อนว่านักเรียนบรรลุมาตรฐาน/ตัวชี้วัดหรือไม่
3.     ได้จัดกิจกรรมการเรียนการสอน ที่สามารถนำพาให้นักเรียนทุกคนทำชิ้นงาน/ภารงานได้หรือไม่ และนักเรียนจะเกิดคุณภาพได้ตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่
ดังนั้นการออกแบบหน่วยการเรียนรู้อิงมาตรฐาน ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551  จึงได้นำแนวคิดBackward  Design  มาใช้ ซึ่งเป็นการออกแบบการเรียนรู้ที่นำเป้าหมายสุดท้ายของผู้เรียนมาเป็นจุดเริ่มต้นในการออกแบบ นั่นก็คือ มาตรฐานการเรียนรู้หรือตัวชี้วัด แล้วนำมาวางแผนการจัดกิจกรรมเพื่อเป็นเครื่องมือที่นำไปสู่การสร้างผลงานหลักฐาน/ร่องรอยแห่งการเรียนรู้ของผู้เรียนนั่นเอง   จากแนวคิดของ Wiggins  และ McTighe ซึ่งเป็นนักวัดผลที่วงการศึกษาไทยรู้จักกันค่อนข้างมาก ได้แก้ปัญหาความไม่เชื่อมโยงระหว่างหลักสูตรกับการประเมินผลของผู้เรียนว่า  จะวัดและประเมินผลผู้เรียนอย่างไรจึงจะแสดงถึงความเข้าใจที่ลึกซึ้ง(Enduring  Understanding)  ตามที่หลักสูตรกำหนดได้อย่างไร
ความเข้าใจที่ลึกซึ้ง (Enduring  Understanding) ที่ Wiggins  และ McTighe ได้เขียนไว้ว่าเมื่อผู้เรียนเกิดความเข้าใจที่ลึกซึ้งแล้วจะสามารถทำในสิ่งต่อไปนี้ได้  มี  6 ด้าน คือ
1.     สามารถอธิบาย (Can explain) โดยผู้เรียนสามารถอธิบายเหตุการณ์ หรือปรากฏการณ์โดยใช้ข้อมูล ทฤษฎี และองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง ด้วยวิธีการและด้วยเหตุและผล (Why  and  How) ทั้งยังสามารถแสดงความคิดเห็นที่มากกว่าเพียงคำตอบผิดหรือถูก
2.     สามารถแปลความ (Can interpret) โดยผู้เรียนสามารถแปลความหมายของข้อมูลได้ชัดเจนตรงประเด็น ชี้ให้เห็นคุณค่า แสดงให้เห็นความเชื่อมโยงสู่ชีวิตจริง และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
3.     สามารถประยุกต์ใช้ (Can apply)โดยผู้เรียนสามารถนำความรู้สู่การปฏิบัติในสถานการณ์ใหม่ ๆ ที่ต่างไปจากที่เรียนมาได้อย่างมีทักษะ
4.     สามารถมีมุมมองที่หลากหลาย (Can perspective) โดยผู้เรียนเป็นผู้ที่มีมุมมองที่มีความน่าเชื่อถือ พิจารณาถึงข้อดี ข้อเสีย ความเป็นไปได้ ความแปลกใหม่ รวมถึงความลึกซึ้งแจ่มชัด
5.     สามารถเข้าใจผู้อื่น (Can empathize) โดยผู้เรียนเป็นผู้ที่เข้าใจผู้อื่น สนองตอบและยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น เป็นผู้ที่มีความละเอียดอ่อนรู้สึกถึงความรู้สึกนึกคิดของผู้เกี่ยวข้อง
6.     สามารถรู้จักตนเอง (Can self-knowledge) โดยผู้เรียนเป็นผู้เข้าใจแนวคิด ค่านิยม อคติ และจุดอ่อนของตนเอง สามารถปรับตัวและแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างชาญฉลาด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น